โครงการประจำปีการศึกษา 2567 (ส.ค.67 - ก.ค. 68)

การรักษาด้วยการเคลื่อนไหวสำหรับปัญหาข้อไหล่ (Movement Therapy for Shoulder Conditions) 3-4 กค. 2568

หลักการและเหตุผล 

          ปัญหาข้อไหล่เป็นหนึ่งในภาวะที่พบได้บ่อยในทางกายภาพบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอาการปวดและข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพต่างๆ เช่น ภาวะข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder), ภาวะการกดเบียดของข้อไหล่ (Shoulder Impingement Syndrome), และความไม่มั่นคงของข้อไหล่ (Shoulder Instability) เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาข้อไหล่ ได้แก่ ความผิดปกติของการเคลื่อนไหว (Movement Impairment), ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ และข้อจำกัดของเนื้อเยื่อรอบข้อ

แนวคิด Movement System Impairment (MSI) ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวทางที่เน้นการระบุรูปแบบของความผิดปกติในการเคลื่อนไหว และนำมาใช้ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการทางชีวกลศาสตร์และระบบควบคุมการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

ดังนั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด MSI และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจประเมิน วินิจฉัย และออกแบบโปรแกรมการรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อไหล่ได้อย่างเหมาะสม

การอบรมนี้ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยเนื้อหาหลัก ประกอบด้วย

  • ทบทวนหลักการทางชีวกลศาสตร์ของข้อไหล่
  • แนวคิด MSI และการประยุกต์ใช้ในการรักษาปัญหาข้อไหล่
  • หลักการตรวจประเมิน alignment impairment และ muscle dysfunction
  • เทคนิคการออกกำลังกายและการฟื้นฟูสมรรถภาพข้อไหล่
  • การจัดการผู้ป่วยโดยใช้แนวทางที่อิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (Evidence-Based Practice: EBP)

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการฝึกปฏิบัติจริงภายใต้การดูแลของคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ทันสมัย

วัตถุประสงค์ของโครงการ

          1 เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ และเทคนิคทางวิชาชีพกายภาพบำบัดให้แก่นักกายภาพบำบัดทั่วไป อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกงาน และศิษย์เก่า

          2 เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาชีพแก่คณาจารย์กายภาพบำบัด และนำไปใช้ในการเรียนการสอน

          3 เพื่อบูรณาการบริการวิชาการเข้ากับงานกายภาพบำบัด และการเรียนการสอน