PHYSICAL THERAPY – HCU

ผู้สนใจเข้าศึกษา

ผู้สนใจเข้าศึกษา

ปริญญาตรี

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2564)
(Bachelor of Science Program in Physical Therapy)

ชื่อหลักสูตร

(ภาษาไทย) : หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด
(ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science Program in Physical Therapy

ชื่อปริญญา

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : วิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : วท.บ. (กายภาพบำบัด)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science (Physical Therapy)
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B.Sc. (Physical Therapy

           หลักสูตรกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทุก 5 ปี นักศึกษาใหม่จะใช้หลักสูตรฉบับปรับปรุง 2559 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รับทราบหลักสูตรเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 58 และได้รับการรับรองปริญญาในวิชาชีพ จากสภากายภาพบำบัดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 58 – 11 เมษายน 63

หลักสูตรกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้บัณฑิตเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม และวิสัยทัศน์ของคณะ ที่มุ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทักษะวิชาชีพกายภาพบำบัด หลักสูตรมี 142 หน่วยกิต ประกอบไปด้วยรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต หมวดวิชาชีพเฉพาะด้าน 106 หน่วยกิต และหมวดวิชาเลือกเสรี จำนวน 6 หน่วยกิต มีรายวิชาฝึกงาน 9 รายวิชา รวม 1200 ชม นักศึกษาใช้เวลาเรียนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 4 ปี

ปีการศึกษาที่ 1
ภาคการศึกษาที่ 1 นักศึกษาจะเรียนในรายวิชาหมวดศึกษาทั่วไปด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีการเรียนวิชาชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นักศึกษาได้แนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง มีการเรียนวิชามูลฐานวิชาชีพกายภาพบำบัด เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ นอกจากนี้ ระหว่างการปิดภาคเรียนมีการให้นักศึกษาไปอาสาสมัครช่วยงานในแผนกกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาล เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และช่วยในการตัดสินใจว่านักศึกษามีความสนใจที่จะเรียนต่อในวิชาชีพนี้ต่อไปหรือไม่

ภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษายังคงเรียนในหมวดศึกษาทั่วไป ร่วมกับการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ เน้นด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ มีการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ เพื่อศึกษา การเรียนวิชากายวิภาคนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนต่อไป เพราะเป็นพื้นฐานให้เข้าใจการเคลื่อนไหว การเกิดความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ มีการเรียนวิชามูลฐานวิชาชีพ 2 ซึ่งเรียนเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ ในการเรียนภาคปฏิบัติทุกรายวิชา จะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 30 คนมีอาจารย์ผู้สอน 3 คน นักศึกษาจะจับคู่กันฝึกปฏิบัติตามที่อาจารย์แสดงให้ดู อาจารย์จะให้คำแนะนำเพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ในการเรียนวิชาปฏิบัติของคณะนี้ นักศึกษาต้องฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญ จึงจำเป็นต้องมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันให้คำแนะนำ และฝึกซ้อมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ในการสอบ มีทั้งการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ปีการศึกษาที่ 2
ภาคการศึกษาที่ 1 นักศึกษาจะได้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ของระบบอื่น เริ่มเข้าสู่การเรียนในวิชาชีพเพิ่มขึ้น โดยเรียนวิชาพื้นฐานการตรวจร่างกาย ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการวัดมุมข้อต่อและการประเมินกำลังกล้ามเนื้อ เรียนวิชาชีวกลศาสตร์และจลนศาสตร์ เป็นการเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ การเคลื่อนไหวของร่างกาย มีการฝึกงานทางกายภาพบำบัด 1 ซึ่งเป็นการให้การรักษาทางกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์จากคณะเป็นผู้ดูแล การฝึกงานนี้ จะทำให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่เรียนมาฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่ซับซ้อน ได้เห็นผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการให้การรักษาแบบเป็นองค์รวม เข้าใจสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่เพียงการรักษาโรคเช่นที่พบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น การออกฝึกงานนี้ ยังช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานทางวิชาชีพ อันจะส่งผลให้นักศึกษานึกภาพผู้ป่วยออกและมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเมื่อเรียนวิชาที่สูงขึ้นต่อไป

ภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาจะได้เรียนวิชาฝึกปฏิบัติที่เกี่ยวกับการให้การรักษาผู้ป่วยทางกายภาพบำบัด เช่น การออกกำลังกายเพื่อการบำบัด การนวดเพื่อการรักษา การใช้เครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด เป็นการฝึกทักษะการปฏิบัติกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีการเรียนภาษาอังกฤษด้านวิชาชีพ เพื่อให้สามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษและเข้าใจศัพท์ทางวิชาชีพกายภาพบำบัด มีการเรียนวิชาบูรณาการหลักการทางวิชาชีพ เพื่อฝึกกระบวนการคิด การวิเคราะห์ นำความรู้ที่ได้เรียนมาจากรายวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาผู้ป่วยสมมติ

ปีการศึกษาที่ 3
ภาคการศึกษาที่ 1 นักศึกษาจะเรียนการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การขยับ ดัด ดึงข้อต่อ การวินิจฉัยและการรักษาด้วยไฟฟ้า มีการเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยด้านระบบประสาท มีการเรียนรายวิชาบูรณาการ 2 เพื่อเตรียมให้นักศึกษาออกไปฝึกปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริง มีการฝึกงานทางกายภาพบำบัด 2 ซึ่งเป็นการฝึกงานในโรงพยาบาลใกล้มหาวิทยาลัยหรือใกล้บ้าน เพื่อนำความรู้ที่เรียนมาไปฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง และมีประสบการณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยประเภทต่าง ๆ มาใช้ในการเรียนวิชาที่สูงขึ้นต่อไป

ภาคการศึกษาที่ 2 เป็นการเรียนเกี่ยวกับผู้ป่วยในแต่ละสาขาหลักของกายภาพบำบัด ได้แก่ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด มีการฝึกงานในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยแต่ละระบบโดยอาจารย์ผู้สอนจากคณะ เพื่อให้นักศึกษามีความมั่นใจในการปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษามีประสบการณ์จริงกับผู้ป่วยครบถ้วนในสาขาวิชาหลักและฝึกปฏิบัติได้ถูกต้องตามที่ได้เรียนมา

ภาคการศึกษาที่ 3 ในระหว่างภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะได้ไปฝึกงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัด 2 แห่ง รวมเวลา 2 เดือน  เป็นระยะเวลาที่มีค่าอย่างยิ่ง เพราะนักศึกษาจะได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์มากมายจากนักกายภาพบำบัดผู้เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกงาน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบัน  ได้นำความรู้ทางทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติกับเพื่อนไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยจริง มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในวิชาชีพ และมีความพร้อมในการเรียนด้านวิชาชีพที่ซับซ้อนมากขึ้นในชั้นปีที่ 4

ปีการศึกษาที่ 4
ภาคการศึกษาที่ 1 นักศึกษาจะเรียนเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยในแต่ละสาขาที่ซับซ้อนมากขึ้น เรียนเกี่ยวกับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ นักกีฬา  กายภาพบำบัดเพื่อสุขภาพและความงาม กายภาพบำบัดชุมชนและการส่งเสริมสุขภาพ มีการเรียนวิชาบูรณาการ 3 ซึ่งเป็นการนำกรณีผู้ป่วยจากการฝึกงานภาคฤดูร้อนมานำเสนอด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์ทางคลินิค มีการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น ผลการวิจัย ในกระบวนการคิดและตัดสินใจ ทางคลินิค มีการทำโครงการพิเศษ เป็นการฝึกกระบวนการทำวิจัย เพื่อฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล มีการเรียนเรื่องกฎหมายและการบริหารงาน เพื่อเตรียมเข้าสู่ชีวิตการทำงาน มีการออกไปทำกายภาพบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนบริเวณรอบมหาวิทยาลัย  เมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษานี้ นักศึกษาจะเรียนหมดทุกอย่างแล้ว เหลือเพียงการฝึกปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริงในภาคการศึกษาสุดท้าย

ภาคการศึกษาที่ 2 ในภาคการศึกษาสุดท้าย นักศึกษาจะฝึกงาน 3 รายวิชาเป็นเวลา 3 เดือน เป็นการฝึกงานในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และฝึกงานตามความสนใจ เช่น ฝึกงานด้านผู้ป่วยเด็ก ทีมกีฬา สถานดูแลผู้สูงอายุ คลินิคส่งเสริมสุขภาพและความงาม หลังเสร็จสิ้นการฝึกงาน นักศึกษาจะต้องกลับมาสอบความรูรวบยอด และเรียนวิชาบูรณาการ 4 ซึ่งเป็นรายวิชาสุดท้ายของหลักสูตรนี้ เป็นการทบทวนความรู้ทั้งหมดจากภาคทฤษฎีและการออกไปฝึกปฏิบัติงานจริงเพื่อให้นักศึกษาพร้อมที่จะเข้าสู้โลกแห่งการทำงานต่อไป

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการเรียนวิชาชีพกายภาพบำบัดเป็นการเรียนที่ประกอบไปด้วยภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย นักศึกษาที่จะศึกษาวิชาชีพกายภาพบำบัดควรเป็นผู้ทีมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบการพบปะผู้คน มีความอดทนและความมุ่งมั่นในการทำงานภายใต้สภาวะความเครียดของผู้ป่วยและญาติ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หาปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขให้กับผู้ป่วย รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ท่าทางในชีวิตประจำวันหรือเครื่องมือต่าง ๆ ในการช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

โอกาสในการทำงาน
  • นักกายภาพบำบัดประจำ โรงพยาบาลรัฐบาล/เอกชน
    • กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • กายภาพบำบัดระบบประสาท
    • กายภาพบำบัดระบบหัวใจและหลอดเลือด
    • กายภาพบำบัดทางเด็ก
  • นักกายภาพบำบัดอิสระ /เจ้าของกิจการ
    • คลินิกกายภาพบำบัด
    • คลินิกเพื่อความงานและสุขภาพ
  • นักกายภาพบำบัดภาคสนาม
    • สโมสรกีฬา
    • ทีมชาติไทย
    • Personnel training
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กและผู้พิการ  โรงเรียนศึกษาพิเศษ
  • นักกายภาพบำบัดชุมชน
Scroll to Top